บทบรรณาธิการ

            สิทธิในการเลือกตั้ง ถือเป็นสิทธิทางพลเมืองประการหนึ่งที่ในระบบกฎหมายต่างประเทศต่างให้การรับรองสิทธิในการเลือกตั้งดังกล่าว แม้แต่ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลให้จำคุก อย่างไรก็ตาม ในระบบกฎหมายไทย ในปัจจุบัน นักโทษในเรือนจำยังไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งขัดต่อแนวทางของกฎหมายต่างประเทศ ดร.เอกพงษ์ สารน้อย จึงได้นำเสนอบทความเรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งผู้ต้องขังของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อวางมาตรฐานใหม่ให้แก่ระบบกฎหมายไทย ผู้สนใจหาอ่านรายละเอียดได้จากบทความดังกล่าว

            บทความเรื่อง การยุบพรรคการเมืองตามระบบกฎหมายไทย โดยคุณกิตติศักดิ์ หนูชัยแก้ว เป็นการนำเสนอแนวคิดในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายต่างประเทศ เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในเรื่องดังกล่าวตามระบบกฎหมายไทย เนื่องจากตามกฎหมายไทยมีการบัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่กว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากระบบกฎหมายต่างประเทศที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบ และได้เสนอทางออกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

             บทความเรื่อง การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทยของ ดร.ศุภกิจ แย้มประชา เป็นบทความวิจัยที่สรุปเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ University of Strathclyde, UK ของผู้เขียนในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากเป็นงานวิจัยเชิงประจักษ์ทางด้านสังคมวิทยากฎหมาย และเป็นการศึกษากลไกการทำงานของบัญชีอัตราโทษ หรือ “ยี่ต๊อก” ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจงานวิจัยด้านนี้

            ผู้พิพากษาจะต้องใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษอย่างไร ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติไว้ 3 กรณี กล่าวคือ การไม่ลงโทษ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด และกำหนดสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายแตกต่างจากที่กฎหมายกำหนด ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษกรณีกฎหมายหมดความจำเป็น โดยนำแนวคิดตามกฎหมายต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการนำเสนอ

 

บรรณาธิการ